พระธรรมทูตคือใคร
ท่านทั้งหลายซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพระธรรมทูต หน้าที่ของพระธรรมทูตคืออะไร พระธรรมทูตคือใคร ทำหน้าที่อะไร อันนี้สำคัญมาก ถือว่าเป็นหัวของเรื่องก็ว่าได้ คือพระสงฆ์ ถ้าหากว่าจะทำงานเพื่องาน ทำงานให้ได้งาม ทำงานให้ได้ผลงาน จะต้องรู้ว่าตัวเองเป็นใครก่อนแล้วค่อยไปรู้ว่ามีหน้าที่อะไร ทำหน้าที่นั้นอย่างไร ลักษณะการทำงานจะเป็นไปตามขั้นตอนอย่างนี้ ทุก ๆ เรื่องครับ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องพระธรรมทูต ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ต้องรู้ก่อนว่าเราเป็นอะไร ในขณะนี้ท่านทั้งหลายมีหมวกอีกหนึ่งใบก็คือพระธรรมทูต
เมื่อบวชเข้ามาแล้วก็สวมหมวกหนึ่งใบแรกคือเป็นพระในพระพุทธศาสนา เป็นสมาชิกของพระพุทธศาสนา เป็นลูกของพระพุทธเจ้า เป็นภิกษุรูปหนึ่งในคณะสงฆ์ไทย เป็นภิกษุรูปหนึ่งในวัด นี้เรียกว่าพอบวชก็เป็นเลย มีมาก ต่อมาอาจจะได้เป็นครูสอนนักธรรม ครูสอนบาลี ก่อนจะมาเป็นครูสอนนักธรรม อาจจะมาเป็นนักเรียนก่อน ต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งและได้รับมอบหมายงานอื่น ๆ อีก ตอนนี้ก็เป็นพระธรรมทูต พระธรรมทูตไม่ต้องแปล โดยทางปฏิบัติพระธรรมทูตก็คือผู้แทนของพระพุทธเจ้า ทูตก็คือผู้แทน ผู้แทนทางธรรมหรือผู้แทนธรรมะ ก็คือผู้แทนของพระพุทธเจ้านั่นเอง ทำหน้าที่แทนพระพุทธเจ้า เหมือนพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว เสด็จจาริกเที่ยวสั่งสอนชาวบ้านจนกระทั่งมีพระสาวกเกิดขึ้น และส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนาในที่ต่าง ๆ พระสาวกที่ถูกส่งไปประกาศพระศาสนานั้น เราเรียกกันว่า “พระธรรมทูต” นั่นก็คือพระที่ทำหน้าที่เป็นทูตหรือเป็นผู้แทนของพระพุทธเจ้า
หลักในการเผยแผ่ธรรม
ท่านทั้งหลายในขณะนี้ มีหน้าที่เป็นพระธรรมทูตก็คือเป็นผู้แทนของพระพุทธเจ้า เมื่อเป็นผู้แทนของพระพุทธเจ้า ในฐานพระธรรมทูตมีหน้าที่ในการเผยแผ่ธรรม พระธรรมทูตมีหน้าที่เดียว หน้าที่หลักก็คือการเผยแผ่ธรรม การเผยแผ่ธรรมทำอย่างไร มีหลายวิธี วิธีแรกที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติก็คือการเทศน์ และถือว่าเป็นวิธีหลักที่พระพุทธเจ้าทรงถือปฏิบัติด้วยพระองค์เองมาโดยตลอด ๔๕ ปี พระพุทธเจ้าเทศน์ไม่หยุดเลย ส่วนวิธีอื่น เช่น พูดคุย ปาฐกถา บรรยาย มีผู้รวบรวมทำวิจันเอาไว้ว่า วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า หรือวิธีการเผยแผ่ของพระพุทธเจ้านั้นมีอยู่ ๗ ประการด้วยกันเท่าที่ท่านค้นคว้าไว้นานแล้วก็คือ
๑.อุปนิสินนกถา
๒. ธรรมีกถา
๓. โอวาทกถา
๔. อนุสาสนีกถา
๕. ธรรมฉากัจฉากถา
๖. ปุจฉาวิสัชชนากถา
๗. ธรรมเทศนากถา
ในเรื่องนี้จะไม่กล่าวถึงรายละเอียด ก็ให้รู้ว่าวิธีเผยแผ่ของพระพุทธเจ้าก็คือการเทศน์ การเทศน์คืออะไร การเทศน์ก็คือการแสดงธรรม การชี้แจง การบอกกล่าว นี่เรียกกันว่าเทศน์ สมัยปัจจุบันนี้ เราก็นำวิธีการเทศน์นั้นมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคเข้ากับสมัย การเทศน์นั้นก็ยังคงอยู่ แต่ว่าหนัก (ค่อนข้าง) ไปทางพิธีการ และเป็นพิธีการที่ศักดิ์สิทธิ์ นั่นคือการเทศน์แบบเดิม ปรับเปลี่ยนมาเป็นปาฐกถา เรียกว่า “ปาฐกถาธรรม” พูดธรรมะ เปลี่ยนเป็นบรรยายธรรม ก็คือพูดธรรมะ เปลี่ยนเป็นอภิปรายธรรม ก็คือการบรรยายธรรมเหมือนกัน แต่บรรยายหลายคน ปรับเปลี่ยนเป็นการเทศน์ปุจฉา-วิสัชชนา สองธรรมาสน์ สามธรรมาสน์ ปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย
นี้ก็เป็นการทำหน้าที่เหมือนกัน ทีนี้ทำอย่างไรถึงจะได้ผล นี้คือตัวหลัก และนี้ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่นิมนต์ท่านทั้งหลายมาประชุมกันนี้เพื่อที่จะได้รู้แนวทางในการเผยแผ่ธรรมในฐานะที่เป็นพระธรรมทูต ให้รู้จักแนวทางให้รู้จักวิธีการ ส่วนรายละเอียด เนื้อหาสาระนั้นก็คงจะพูดอะไรกันไม่ได้ ธรรมะนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ท่านทั้งหลายต้องมีทุนเดิมกันอยู่แล้ว นั่นก็คือต้องมีความรู้ด้านธรรมะ ได้ศึกษานักธรรมบ้าง บาลีบ้าง อ่านหนังสือด้วยตนเองบ้าน สิ่งเหล่านี้เรียกว่าเป็นต้นทุนในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา.
โดยพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น